096-305-0765

การจัดฟันแบบติดแน่น

เพื่อให้การจัดฟันเป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่อ จึงอยากเสนอแนวทางความเข้าใจและการปฏิบัติตัวสำหรับคนไข้จัดฟัน

การประเมินระยะเวลาในการรักษา

การประเมินระยะเวลานั้นเป็นการประเมินอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น ทันตแพทย์ไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอน เพราะระยะเวลาในการจัดฟันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน  ได้แก่

  1. การตอบสนองต่อการรักษา  การเจริญเติบโต และพัฒนาการของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า
  2. ความร่วมมือในการรักษาของคนไข้และการรักษานัด
  3. อายุของคนไข้หรือความรุนแรงของความผิดปกติของการเรียงฟัน

การเปลี่ยนแผนการรักษา

ในบางครั้งแผนการรักษาเบื้องต้นอาจต้องเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การตอบสนองต่อการรักษา  ความร่วมมือในการรักษา (ใช้เครื่องมือตามที่ทันตแพทย์จัดฟันแนะนำ) เป็นต้น  ซึ่งแผนการรักษา  อาจเปลี่ยนจากไม่ต้องถอนฟัน เป็นต้องถอนฟัน  หรือ จากการจัดฟันอย่างเดียวเป็นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด

การจัดฟันแบบติดแน่น

การจัดฟัน

ข้อปฏิบัติระหว่างการจัดฟัน

  1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง, เหนียว และกรอบ ทั้งหลาย เช่น การเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง  ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท้อฟฟี่ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรือหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้
  2. การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กพอดีคำ และเคี้ยวด้วยฟันกรามหลัง ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ
  3. ในระยะแรกของการจัดฟัน มักจะเจ็บฟัน  และอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 2  วิธีลดการระคายเคืองทำได้โดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์ทาปิดทับบริเวณเครื่องมือที่แหลมคม และการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยทำให้แผลหในช่องปากหายได้เร็วขึ้น
  4. ถ้าลวดจัดฟันงอออกมาแทงริมฝีปากหรือกระพุ้งแก้ม  ให้ใช้ของไม่มีคม เช่นยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์กดปลายลวดเข้าไป
  5. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อลดการเกิดฟันผุในระหว่างจัดฟัน
  6. ในระหว่างการจัดฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน และตรวจฟันผุทุก 6 เดือน
ขี้ผึ้งหุ้มเครื่องมือจัดฟัน

ขี้ผึ้งหุ้มเครื่องมือจัดฟัน

ความร่วมมือในการรักษาด้วยการจัดฟัน

สำคัญที่สุดในการจัดฟัน  ได้แก่ การรักษาความสะอาด การดูแลเครื่องมือไม่ให้หักหรืองอ  การใช้เครื่องมือประกอบเพื่อช่วยในการรักษา เช่น ยางคล้องฟัน เครื่องมือโอบรัดศรีษะ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นการรักษาก็จะไม่มีวันเสร็จและอาจต้องถอดเครื่องมือออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดฟัน

  • ฟันผุ เหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้เมื่อรักษาความสะอาดไม่ดีพอ  ดังนั้นควรทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังอาหาร  หรือใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง
  • รากละลาย การเคลื่อนฟันทุกครั้งจะมีแรงกดบนรากฟันและจะเกิดการละลายของรากฟัน  แต่ในปริมาณน้อยมาก และไม่เป็นอันตรายใด ๆ ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบ ดังนั้นการป้องกันการละลายตัวของรากฟันคือพยายามให้การรักษาสั้นที่สุด  โดยมาตามนัดอย่างตรงเวลาทุกครั้ง ใช้เครื่องมือตามคำแนะนำ  และรักษาความสะอาดในช่องปาก
  • แผลในช่องปาก ให้ใช้ขี้ผึ้งตามคำแนะนำ  ถ้าเจ็บมากให้ทายาที่แผลในปากได้

เลิกนิสัยที่มีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติ

แรงเพียงเบา ๆ ก็สามารถเคลื่อนฟันได้ และนิสัยที่ผิดปกติบางอย่างได้แก่ การดูดนิ้ว  การหายใจทางปาก  การเอาลิ้นดุนฟันขณะกลืนน้ำลายหรือขณะพูด  นิสัยชอบกัดเล็บ เป็นต้น  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสามารถผลักฟันให้เคลื่อนที่ได้เช่นกัน  ซึ่งจะมีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติในอนาคต  ดังนั้นผลการรักษาการจัดฟันจะดีได้  ต้องเลิกนิสัยเหล่านี้ให้หมดเสียก่อน

อาการที่มักพบหลังจากติดเครื่องมือจัดฟันในระยะแรก

มักจะมีแผลเกิดขึ้นเสมอ  ซึ่งแผลดังกล่าวจะค่อย ๆ หายเองได้ภายใน 5 – 14 วัน ควรใช้ขี้ผึ้งเท่าเม็ดถั่วเขียว ปั้นเป็นท่อน ๆ มาปิดทับลวดจัดฟันบริเวณที่สัมผัสกับแผลเพื่อลดอาการระคายเคือง

Comments

comments